วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554




การปลูกถั่วลิสง
ถั่วลิสงเป็นพืชน้ำมันที่มีอายุสั้น ใช้ประโยชน์ในรูปเมล็ดสดและเมล็ดแห้ง พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกถั่วลิสงควรเป็นดินหน้าลึก การระบายน้ำดีไม่มีน้ำขัง หน้าดินไม่ควรแน่นหรือแข็งเมื่อแห้ง โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวเพราะจะทำให้ฝักขาดค้างอยู่ในดินมาก อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตประมาณ ๓๐ องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่านี้ถั่วลิสงจะงอกช้ากว่าปกติ การขาดน้ำในระยะที่ถั่วลิสงอยู่ระหว่างการแทงเข็มและสร้างฝัก จะมีผลกระทบต่อผลผลิตมากที่สุด
พันธุ์
สข.๓๘ เก็บเกี่ยวฝักสดเมื่ออายุ ๘๕ - ๙๐ วัน อายุถึงวันเก็บเกี่ยวฝักแก่เต็มที่ ๙๕ - ๑๐๕ วัน เส้นลายบนฝักและจะงอยฝักเห็นได้ชัดเจนเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ใช้ประโยชน์ในรูปฝักสด
ไทนาน ๙ อายุเก็บเกี่ยว ๙๕ - ๑๑๐ วัน เส้นลายบนฝักไม่ชัด (ฝักเรียบ) จะงอยฝักเห็นได้ชัดเจนมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู ผลผลิต (ฝักแห้ง) ในฤดูฝน ๒๓๖ กก./ไร่ และฤดูแล้ง ๒๙๓ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือกและฝักต้มอบ
ขอนแก่น ๖๐ - ๑ อายุเก็บเกี่ยว ๙๕ - ๑๐๕ วัน เส้นลายบนฝักเห็นได้ชัดเจน แต่จะงอยฝักไม่เด่นชัด ผลผลิต ๒๕๐ กก./ไร่ ในฤดูฝนและ ๓๐๓ กก./ไร่ ในฤดูแล้ง ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก
ขอนแก่น ๖๐ - ๒ อายุเก็บเกี่ยวฝักสด ๘๕ - ๙๐ วัน อายุถึงวันเก็บเกี่ยวฝักแก่เต็มที่ ๙๕ - ๑๐๕ เส้นลายบนฝักและจะงอยฝักเห็นได้ชัดเจน สำหรับต้มสด ผลผลิตฝักสด ๕๗๒ กก./ไร่ ฝักแห้ง ๒๖๖ กก./ไร่
ขอนแก่น ๖๐ - ๓ เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ ๑๑๐ - ๑๒๐ วัน เมล็ดมีการพักตัวประมาณ ๖๐ วันหลังเก็บเกี่ยว เยื่อหุ้มเก็บเกี่ยว เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูและส้มอ่อนผลผลิตฝักแห้ง ๓๗๘ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก
ขอนแก่น ๔ อายุเก็บเกี่ยว สำหรับต้มฝักสด ๘๕ - ๙๕ วัน อายุเก็บเกี่ยวสำหรับฝักแห้งและกะเทาะเปลือก ๙๕ - ๑๐๐ วัน เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูเข้ม เห็นเส้นลายฝักได้ชัดเจน ผลผลิตฝักสด ๕๖๘ กก./ไร่ผลผลิตฝักแห้ง ๒๗๐ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์ทั้งในรูปฝักต้ม ฝักอบ และเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก
ขอนแก่น ๕ อายุเก็บเกี่ยว ๘๕ - ๑๑๕ วัน เห็นเส้นบนลายฝักชัดเจน เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูเข้ม ผลผลิตฝักแห้ง ๓๐๔ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก
การเตรียมดิน
ควรไถพรวนดินก่อนปลูกเพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุยเหมาะต่อการงอก โดยไถดินลึกประมาณ ๑๐ - ๒๐ ซม. แล้วพรวนย่อยดินให้เหมาะต่อการปลูก
การปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้งโดยใช้น้ำชลประทาน ควรยกร่องปลูกเพื่อสะดวกในการให้น้ำ ความกว้างของสันร่องขึ้นอยู่กับเนื้อดิน ถ้าเนื้อดินแน่นควรใช้ร่องแคบ สันร่องกว้างประมาณ ๖๐ - ๙๐ ซม. ปลูกถั่วลิสงได้ ๒ แถว หากดินระบายน้ำดีอาจขยายขนาดร่องให้กว้างขึ้นได้ถึง ๑.๕ ม.
การปลูกหลังนาโดยอาศัยความชื้นในดินและไม่มีการให้น้ำนั้นเงื่อนไขคือ ต้องมีระดับน้ำใต้ดินอยู่ตื้นและมีปริมาณพอต่อการเจริญเติบโตตลอดอายุ การเตรียมดินจะทำหลายครั้งเพื่อให้หน้าดินละเอียด เพื่อลดการระเหยน้ำจากดิน และเหมาะแก่การลงเข็มของถั่วลิสง
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ควรมีความงอกไม่ต่ำกว่า ๗๐% ควรกะเทาะเมล็ดแล้วปลูกภายใน ๑ เดือน เมล็ดที่ใช้สำหรับปลูกในสภาพอาศัยความชื้นในดิน ควรเป็นเมล็ดไม่เพราะต้องแช่น้ำก่อนปลูก ๔ - ๕ ซม. ให้งอกติ่งรากก่อนจึงใช้ปลูก จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้นและสม่ำเสมอดีกว่าใช้เมล็ดไม่ได้แช่น้ำก่อน การปลูกสภาพนี้ใช้เมล็ดมาก ควรคลุมเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคแซบ (ไดเทน M ๔๕) อัตรา ๓ กรัม/เมล็ด ๑ กก. หรือ เบโนมิล ( เบนเลท ) ผสมคาร์บอกซิน (ไวตาแวคซ์ ) อัตรา ๓+๔ กรัม/เมล็ด ๑ กก. หรือริโดมิล MZ ๗๒ อัตรา ๓ กรัม/เมล็ด ๑ กก. การคลุกเมล็ดไม่ควรใช้สารชนิดเดียวกันติดต่อกันหลายฤดูเพราะเชื้อราจะดื้อยาได้ ตามปกติอัตราเมล็ดพันธุ์กะเทาะแล้วที่ใช้ปลูกประมาณ ๑๕-๒๐ กก./พื้นที่ ๑ ไร่
สำหรับพันธุ์ขอนแก่น ๖๐-๓ เมล็ดระยะพักตัวประมาณ ๖๐ วันหลังจากเก็บเกี่ยว ก่อนปลูกจึงต้องคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารอีเทรล ๓๙.๕% จำนวน ๒ ซีซี. ผสมน้ำ คลุกเมล็ด ๓๐-๓๕ กก. ทิ้งไว้ ๑๘ ซม.
ฤดูปลูก
๑.ต้นฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม เก็บเกี่ยวประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม
๒.ปลายฤดูฝน ปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บเกี่ยวเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน
๓.ฤดูแล้ง
-ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน ปลูกในเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมกราคา เก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน-พฤษภาคม
-ปลูกโดยอาศัยความชื้นที่เหลือในดิน ปลูกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
การปลูก
เพื่อให้เมล็ดงอกอย่างสม่ำเสมอ ควรฝังเมล็ดลึกประมาณ ๒ นิ้วการปลูกระยะแถวห่าง ๓๐ ซม. ต้นถั่วจะคลุมพื้นที่ได้เร็วและแข่งขันกับวัชพืชได้ดีกำจัดวัชพืชครั้งเดียวก็พอ หากมีวัชพืชมากต้องกำจัดวัชพืช ๒ ครั้ง ซึ่งทำได้ไม่สะดวก ควรปลูกระยะแถวห่างขึ้นคือ ๔๐-๕๐ ซม.ช่วยให้กำจัดวัชพืชได้สะดวกขึ้น ระยะระหว่างหลุม ๒๐ ซม. จำนวน ๒-๓ ต้น/หลุม
สำหรับการปลูกโดยอาศัยความชื้นในดิน ระยะระหว่างรอยไถ ๒๕-๓๐ ซม. หยอดเมล็ดในร่องไถห่างกัน ๑๐-๑๕ ซม.
การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคนโดยใช้จอบดายหญ้า ควรรีบทำขณะที่วัชพืชยังเล็กอยู่ในช่วง ๑๕-๒๐ วัน หลังจากนั้นถ้ามีวัชพืชงอกขึ้นมาอีกควรกำจัดวัชพืชอีกครั้งในช่วง ๓๐-๔๕ วัน ในระยะนี้ต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนกับการลงเข็ม
สำหรับการใช้สารเคมี อาจใช้สารฟลูอาซิฟอบ-พารา-บิวทิล (วันไซด์ซูเปอร์), คลีโธดิม (ซีเลคท์), อิมาเซททาพอร์ (เปอร์ซูท) พ่นหลังถั่วลิสงและวัชพืชงอกแล้วโดยพ่นขณะที่วัชพืชมีใบจริง ๒-๖ ใบและไม่ควรพ่นเมื่อถั่วลิสงมีใบจริงเกิน ๓ ใบ
การใส่ปุ๋ย
ถ้าดินเป็นกรด pH ต่ำกว่า ๕.๕ ควรมีการใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินก่อน โดยทั่วไปดินทรายใช้ปูนขาวอัตรา ๑๐๐-๑๐๕ กก./ไร่ และ ๒๐๐-๕๐๐ กก./ไร่ ในดินเหนียว โดยใส่ก่อนปลูก ๑-๒ สัปดาห์แล้วพรวนดินกลบ ปูนขาวนอกจากจะช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินแล้วยังให้ธาตุแคลเซียม ซึ่งทำให้ถั่วลิสงมีเมล็ดโตและสมบูรณ์นอกจากปูนขาวแล้วอาจใช้ยิปซัมเป็นแหล่งให้ธาตุแคลเซียมก็ได้ โดยใช้ในอัตรา ๕๐-๑๐๐ กก./ไร่ โดยใส่ข้างแถวปลูกในระยะที่ถั่วลงเข็ม (๔๐-๔๕ วันหลังงอก)
การใส่ปุ๋ยเคมีให้พิจารณาจากชนิดดิน ดังนี้
-ดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียวใช้ปุ๋ยสูตร ๐-๖-๐ หรือ ๓-๙-๐
-ดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยสูตร ๓-๖-๓ หรือ ๓-๙-๖ หากจะหาซื้อจากท้องตลาดก็ควรใช้สูตร ๑๒-๒๔-๑๒ อัตรา ๒๕ กก./ไร่
การป้องกันและกำจัดโรค
โรคที่สำคัญและทำลายผลผลิตของถั่วลิสงมีดังนี้
เมล็ดเน่า โคนเน่าขาด ใช้แคปตาโฟล (ไดโฟลาแทน) หรือไธแรม (เทอร์ซาน) ๒ ช้อนชา คลุกเมล็ด ๑ กก.
ใบจุดและราสนิม แนะนำให้ใช้คลอโรธาโลนิล (ดาโคนิล) หรือใช้เดลซีน -MX (สารผสมเบโนมิล กับ แมนโคเซ็บ) ๒-๓ ช้อนแกงผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่นทุก ๗-๑๔ วัน หากพบว่าโรคใบจุดดื้อยาให้เปลี่ยนใช้สารเคมีชนิดอื่น
ฝักเป็นแผล เป็นหูดจากไส้เดือนฝอย แนะนำให้ใช้ เท็มมิค ๑๐ G (อัลดิคาร์บ) หรือ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน ๓ G) โรยก้นหลุมหรือรอบหลุมแล้วคราดกลบ สารทั้ง ๒ ชนิดนี้อาจทำให้ขอบใบพืชไหม้แต่อาการดังกล่าวจะหายไปเอง
การป้องกันและกำจัดแมลง
แมลงศัตรูที่สำคัญและนำความเสียหายอย่างรุนแรงสำหรับถั่วลิสงได้แก่
เสี้ยนดินและปลวก พ่นระหว่างแถวถั่วลิสงเมื่อถั่วลงเข็ม และพ่นอีกครั้งหลังจากนั้น ๒ สัปดาห์ ด้วยสารฆ่าแมลง คลอร์ไพริฟอส( ลอร์สแบน ๔๐ EC) หรืออาจใช้คารโบฟูราน ( ฟูราดาน ๓ % G ) โรยพร้อมกับปุ๋ยข้างแถวถั่ว หลังดายหญ้าครั้งที่ ๒ หรือเมื่ออายุ ๓๐-๓๕ วัน ควรแบ่งใส่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ ๓๐-๓๕ วัน และครั้งที่ ๒ เมื่อถั่วลิสงอายุ ๖๐-๖๕ วัน
การเก็บเกี่ยว
ในกรณีที่เก็บฝักแห้ง ถั่วลิสงที่เมล็ดแก่จัด สีของผนังเปลือกฝักด้านในจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและน้ำตาลดำ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีตามพันธุ์สุ่มถอนต้นถั่วจากหลายจุดในแปลงเมื่อพบฝักแก่ ๖๐-๘๐% ก็เก็บเกี่ยวได้ ควรถอนและปลิดฝักให้เสร็จเป็นแปลง ๆ หลังปลิดฝักแล้วรีบทำให้แห้ง ควรนำฝักไว้ในที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ โดยเทฝักลงบนผ้าพลาสติกหนา เกลี่ยฝักแต่ละกองให้บางที่สุด หากปลิดไม่ทันในวันที่ถอนให้เรียงต้นถั่วถอนขึ้นมาไว้เป็นแถว หงายด้านฝักขึ้น ไม่กองสุมต้นถั่วที่ยังไม่ปลิดฝักเพราะจะทำให้เกิดเชื้อราที่ฝัก ได้เมล็ดมีคุณภาพต่ำ
การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์
หลังจากลดความชื้นเมล็ดให้อยู่ในระดับ ๗-๘ % แล้ว ถั่วลิสงควรจะเก็บรักษาไว้ในสภาพฝักและจะกะเทาะเมล็ดก่อนปลูก ๑ เดือน อายุการเก็บรักษาในสภาพไม่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์จะขึ้นอยู่กับคุณภาพเบื้องต้นของเมล็ดพันธุ์ หากความงอกเริ่มต้นของเมล็ดหลังเก็บเกี่ยวอยู่ในระดับต่ำ เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดชุดนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว
ความรู้ทั่งไปเกี่ยวกับถั่วลิสง

ชื่อสามัญไทย : ถั่งลิสง ถั่วยี่สง ถั่วดิน ถั่วคุด
ชื่ออื่นๆ : Peanut,groundnut,arachide
Family : Papilionaceae
Genus : Arachis
Species : hypogaea
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arachis hypogaea hypogaea (virginia type)
Arachis hypogaea fastigiata (spanish-valencia type)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ระบบราก : เป็นระบบรากแก้ว (tap root system) ซึ่งมีราก 3 ชนิด คือ (1) รากแก้ว (2) รากแขนง และ (3) รากฝอย ที่รากถั่วลิสงมีปมของแบคทีเรียพวก Rhizobium sp
ใบ : เป็นใบรวม (compound leaves) มีรูปกลมรี ปลายใบมน แต่ละใบขนาดประมาณ 3x4 ซม. แต่ละชุดใบมีใบย่อย 2 คู่แบบ pinnate ก้านใบรวม (petiole) มีความยาว 3-7 ซม. ที่โคนมีหูใบ 2 อัน
ดอก : เป็นดอกช่อแบบ spicate ดอกมีขนาดเล็ก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เป็นพวก cleistogamy ฐานช่อดอกเรียกว่า bract (หรือ cataphyll) ดอกเป็นแบบผีเสื้อ (papilionate) มีส่วนต่าง ๆ เป็นลำดับนอกสุดถึงชั้นในสุด ดังนี้ กลีบดอก ประกอบด้วยกลีบดอกชั้นนอก 1 กลีบ ชั้นกลาง 2 กลีบ และชั้นในสุด 2 กลีบ ภายในกลีบดอกชั้นในสุด มีอับเกสรตัวผู้ 10 อัน (มีลักษณะกลม 4 อัน รูปไข่ 4 อัน และอีก 2 อันเป็นหมัน) และมีเกสรตัวเมีย ซึ่งประกอบด้วย ยอดเกสรตัวเมีย ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่
เมื่อดอกได้รับการผสมเรียบร้อยแล้ว จะพัฒนาเป็นรูปร่างยาว โดยการยืดตัวของท่อ hypanthium การยืดตัวนี้เกิดจากการยืดตัวของเนื้อเยื่อพวก intercalary meristem ซึ่งอยู่ที่ฐานของรังไข่ ก้านยาวนี้มีปลายแข็งเรียกทั้งหมดว่า เข็ม (peg)
เมล็ด : เมล็ดของถั่วลิสงมีเยื้อหุ้มสีต่าง ๆ กัน ขนาดเมล็ดขึ้นอยู่กับชนิดของถั่ว

การจำแนกชนิดของถั่วลิสง
1. การจำแนกทางพฤศาสตร์(botanicalclassification) วิธีนี้แบ่งเป็น 2 sub-species คือ
1.1Arachis hypogaea spp. hypogaea พวกนี้ไม่มีดอกบนต้นหลัก (main stem) บนแขนงมีดอก 2 ข้อ เว้น 2 ข้อ เป็นพันธุ์หนัก เมล็ดมีระยะพักตัว (dormancy) มักเป็นพุ่มเลื้อย ฝักมี 2เมล็ด ขนาดใหญ่ พวกนี้ได้แก่ประเภทเวอร์จิเนีย (Virginia)
1.2Arachishypogaeaspp. fastigiata มีดอกบนต้นหลักและกิ่ง ฝักเกิดเป็นกระจุกที่โคนต้น เมล็ดไม่พักตัว มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพวกแรก แบ่งออกได้เป็น 2 พวกย่อยๆ คือ พวกวาเลนเซีย ฝักยาวมี 3-4 เมล็ด และสแปนนิชฝักสั้นมี 2 เมล็ด
2 แบ่งตามลักษณะทรงต้น
2.1 ประเภทต้นตรง (erect type) มีทั้งวาเลนเซีย สแปนนิช และเวอร์จิเนีย ฝักจะเป็นกระจุกที่โคนต้น
2.2 ประเภทเลื้อยหรือกิ่งเลื้อย (runner or semi-spred type) เป็นพวกเวอร์จิเนีย ฝักกระจายตามข้อของลำต้น
3. แบ่งตามขนาดเมล็ด การแบ่งวิธีนี้มี 3 ชนิด คือ เวอร์จิเนีย วาเลนเซีย และสแปนนิช

ความสำคัญ สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต
ถั่วลิสง จัดอยู่ในกลุ่มพืชผลิตไม่พอกับความต้องการ ทั้งนี้เพราะถั่วลิสงเป็นพืชไร่ตระกูลถั่วที่มีความคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารสำหรับบริโภคได้ง่ายผลผลิตที่ได้มากกว่า 90% นำมาใช้ภายในประเทศ โดยใช้บริโภคในรูปถั่งต้ม ถั่วคั่ว ถั่วอบ เป็นส่วนประกอบของอาหารคาวหวานต่างๆการทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ บางส่วนนำมาสกัดน้ำมันและกากใช้ในอุตสาหกรรมทำอาหารสัตว์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของอุตสาหกรรมการทำอาหารสัตว์ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ผลผลิตของถั่วลิสงที่ผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศต้องนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศโดยการนำเข้าในรูปถั่วลิสงทั้งเปลือก กะเทาะเปลือกและกาก ในปี 2542,2543 และ2544 จำนวน 46,713 34,723 และ 93,478 ตัน มูลค่า 259.79 457.96 และ 1,123.36 ล้านบาท ตามลำดับ

การใช้ประโยชน์ถั่วลิสง
การเลือกใช้กากถั่วลิสง โดยเฉพาะอย่ายิ่งกากถั่วลิสงอัดน้ำมันต้องระวังเรื่องเชื้อราหรือสารพิษอะฟลาท็อกซินให้มาก เพราะถั่วลิสงที่ใช้ผลิตมักเป็นถั่วคุณภาพต่ำ(เกรดไม่ดีมีเมล็ดขนาดเล็ก เมล็ดลีบ แตกเสีย เชื้อราขึ้นปนมาก ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดที่เหลือจากการคัดเมล็ดดีๆออกไปแล้ว)กากถั่วลิสงที่มีโปรตีนข่อนข้างต่ำ(ต่ำกว่า 40%) มักมีไขมันสูงหลงเหลืออยู่มากจึงหืนง่ายเก็บไว้ได้ไม่นานอนึ่งในปัจจุบันกากถั่วลิสงสกัดน้ำมันชนิดไม่กระเทาะเปลือกผลิตออกมาจำหน่ายมากขึ้น กากถั่วลิสงพวกนี้จะมีโปรตีนต่ำประมาณ 37-40% และมีเยื่อใยสูง นอกจากนี้อาจมีพวกดินทรายปนมาค่อนข้างมาก ส่วนกากถั่วลิสงสกัดน้ำมันชนิดกระเทาะเปลือกมักมีคุณภาพดีกว่ามีสารอะฟลาท็อกซินและสิ่งปลอมน้อยกว่า อย่างไรก็ตามถั่วลิสงก็ต้องระวังสารยับยั้งทริปซินซึ่งมีอยู่และถูกทำลายไปด้วยความร้อนเช่นเดียวกับในกากถั่วเหลือง
ปัญหามักพบ
1. กากถั่วลิสงชนิดสกัดน้ำมันมักมีเปลือกถั่วติดปนมามากทำให้คุณภาพต่ำ
2. มักมีเชื้อราและสารพิษอะฟลาท็อกซิน โดยเฉพาะในถั่วลิสงอัดน้ำมัน

คุณค่าทางโภชนาการ
ถั่งลิสงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งของอาหารประเภทโปรตีนและพลังงาน เพราะมีโปรตีนประมาณร้อยละ 25-30 ไขมันร้อยละ 45-50 และคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 20 ส่วนประกอบ 2 ชนิดหลังเป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานสูง คือให้พลังงานประมาณ 585 แคลอรี่ต่อ 100 กรัม
โปรตีนในถั่วลิสงมีปริมาณเทียบเท่ากับถั่วเขียว ถั่วแดง และถั่วดำ แต่ต่ำกว่าถั่งเหลือง และมีกรดอะมิโน lysine,theonine และ methionine ที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำกว่าที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำให้สุกปริมาณยิ่งน้อยลงอีกประมาณ 15, 11 และ 10 ตามลำดับ การใช้ความร้อนสูงตั้งแต่ 145 องศาเซลเซียสขึ้นไปมีแนวโน้มทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง แต่การทำให้สุกก่อนมีความจำเป็นเพราะความร้อนจะช่วยทำลาย trypsin inhibitor การใช้ความร้อนชื้น เช่น ต้มหรือนึ่งที่อุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส หรือใช้ความร้อนแห้ง เช่น คั่วหรืออบที่อุณหภูมิ 130 องศาเซลเซียส จะทำลาย trypsin inhibitor ได้เช่นกัน

ข้อจำกัดของถั่วลิสง
ในถั่วลิสงมีข้อจำกัดที่สำคัญคือการเกิดสารพิษในถั่งลิสงที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารอะฟลาท็อกซิน เชื้อราที่เป็นสาเหตุ เชื้อ Aspergillus flavus และ A.parasiticus สารพิษนี้สามารถปนเปื้อนตั้งแต่ช่วงระยะที่ปลูกในแปลง การเก็บเกี่ยว การตากแห้ง รวมทั้งระหว่างการการเก็บรักษาก่อนถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะการปลูกถั่งลิสงในฤดูฝน การปนเปื้อนของสารชนิดนี้เริ่มในช่วงถั่วลิสงสร้างฝัก เชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์(RH)75 % ซึ่งเป็นสารพิษร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภค ทั้งมนุษย์และสัตว์เลี้ยงโดยตรงอย่างเฉียบพลัน หากได้รับในปริมาณสูงและอาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ตับ หัวใจ และสมอง
สำหรับคนไทยกำหนดให้มีสารชนิดนี้ไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน(ppb) ส่วนต่างประเทศกำหนดให้มีสารชนิดนี้ไม่เกิน 5-30 ppb ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดมาตรฐานในแต่ละประเทศ
สารอะฟลาท็อกซินจัดเป็นสาร secondary metbolite ที่สร้างขึ้นจากเชื้อรา มักพบการปนเปื้อนในพืชไร่หลายชนิดโดยเฉพาะถั่วลิสง ข้าวโพด พบสารพิษนี้ปริมาณสูงมาก สารอะฟลาท็อกซินที่ตรวจพบในธรรมชาติมี 4 ชนิดคือ aflatoxinB1,B2,G1 และ G2 มีคุณสมบัติเรืองแสง ความเป็นพิษ aflatoxinB1มีพิษสูงสุด รองลงมาได้แก่ B2,G1 และ G2 ตามลำดับ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารพิษอะฟลาท็อกซิน
1. ปัจจัยจากชนิดและปริมาณของเชื้อราที่เป็นสาเหตุ
2. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นดิน
3. ปัจจัยด้านการทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ อายุเก็บเกี่ยวเหมาะสม การตากผล
ผลิต การลดความชื้นเมล็ด

วิธีการควบคุมการปนเป้อนของเชื้อราที่เป็นสาเหตุและการสร้างสารอะฟลาท็อกซิน
1. วิธีการด้านกายภาพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดการทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ได้
แก่การป้องกันไม่ให้เมล็ดถั่งเสียหายจากการเก็บเกี่ยว การควบคุมความชื้นเมล็ดให้เหมาะสม การคัดแยกเมล็ดที่เสียออกไป สภาพแวดล้อมและวิธีการเก็บรักษาผลผลิตเหมาะสม
2. วิธีการด้านชีวภาพ
3. การใช้สารเคมี
4. การเขตกรรม
การป้องกันและแก้ไข
1. ควรเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่ฝักแก่เต็มที่
2. เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตากผลผลิตให้ฝักแห้ง เพื่อลดความชื้นในเมล็ด
3. ควรเก็บในสภาพอุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70%
การทำลายสารอะฟลาท็อกซิน
1. การใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 260 องศาเซลเซียส
2. การใช้สารละลายแอมโมเนีย 1.5 % ทำปฏิกิริยากับถั่วลิสงเป็นเวลา 6 วันช่วยลดสารพิษให้ต่ำกว่า 20 ppb
อย่างไรก็ตามวิธีทั้งสองนี้ทำให้คุณภาพเมล็ดเสียด้วย จงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้
การตรวจวัดสารอะฟลาท็อกซิน(Aflatoxin)ในถั่วลิสง
1. วิธีอิมมูโนวิทยา (Immunulogy) ด้วยวิธี Enzyme Link Immunosorbent Assay (ELISA)
2. วิธีโครมาโตกราฟีชั้นบาง (Thin-layer chromatography, TCL)

ข้อมูลที่น่าสนใจ
จากงานวิจัยที่ได้จาก การวิจัยและพัฒนาวิธีการปรับปรุงคุณภาพถั่วลิสงเพื่อลดปัญหาสารพิษอะฟลาท็อกซิน โดยทำการเก็บตัวอย่างเมล็ดถั่งลิสงในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของฤดูแล้ง จากเขตจังหวัดภาคเหนือ 11 ตัวอย่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 ตัวอย่าง ภาคกลาง 24 ตัวอย่าง และภาคตะวันออก 9 ตัวอย่าง มาตรวจสอบสารอะฟลาท็อกซิน วิเคราะห์โดยวิธี HPLC ผลการวิเคราะห์พบว่าในภาคเหนือมีตัวอย่างที่พบสารพิษ 52% มีปริมาณสารพิษ 1-160 ppb ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีตัวอย่างที่พบสารพิษ 44% มีปริมาณสารพิษ 10-200 ppb ภาคกลางมีตัวอย่างที่พบสารพิษ 16% มีปริมาณสารพิษ 1-90 ppb (ผลงานวิชาการประจำปี 2544 กรมวิชาการเกษตร)